จำเลยรับสารภาพต่อศาลในคดีอาญา ศาลจะลดโทษและรอการลงโทษหรือไม่

จำเลยรับสารภาพต่อศาลในคดีอาญา ศาลจะลดโทษและรอการลงโทษหรือไม่ 

๑.จำเลยรับสารภาพต่อศาลในคดีอาญา ศาลลดโทษหรือไม่  นั้นบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล  มิใช่ต้องลดโทษทุกกรณี มีข้อพิจารณาตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาดังนี้

๑.๑ กรณีจำเลยให้การรับสารภาพก่อนสืบพยาน ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ โดยปกติลดโทษกึ่งหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553 / 2552 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐานจึงไม่รถโทษให้แต่ข้อหาความผิดตามฟ้องมิใช่เป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นเมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องของโจทก์ศาลชั้นต้นย่อมพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ย่อมไม่อาจกล่าวได้ ว่าโจทก์มีพยานหลักฐานเป็นอย่างไรและจำเลยจำนนต่อพยานหลักฐานเช่นว่านั้นทำให้การรับสารภาพของจำเลยจึงเป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับว่าคดีมีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78

เหตบรรเทาโทษหรือลดโทษตามกฎหมาย
         (มาตรา 78  บัญญัติว่า  เมื่อ ปรากฏว่า มีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะ ได้มีการเพิ่ม หรือ การลดโทษ ตาม บทบัญญัติ แห่ง ประมวลกฎหมายนี้ หรือ กฎหมายอื่น แล้วหรือไม่ ถ้า ศาล เห็นสมควร จะลดโทษ ไม่เกิน กึ่งหนึ่ง ของ โทษที่จะลง แก่ ผู้กระทำความผิดนั้น ก็ได้
            เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ ผู้กระทำความผิด เป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญา ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิด และ พยายามบรรเทาผลร้าย แห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อ เจ้าพนักงาน หรือ ให้ความรู้แก่ ศาล อันเป็นประโยชน์ แก่การพิจารณา หรือ เหตุอื่น ที่ ศาล เห็นว่า มีลักษณะทำนองเดียวกัน)

๑.๒  กรณีศาลเห็นว่า รับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ ศาลจึงไม่ลดโทษให้ ซึ่งมักเป็นกรณีจำเลยมีพฤติการณ์ชั่วร้าย ร้ายแรง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย มีพยานหลักฐานมัดแน่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4211/2546 จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึง 110,000 เม็ดน้ำหนัก 10,496.92 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ถึง 1,044.916 กรัม แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาจะได้มี พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545มาตรา 8 และมาตรา 19 ยกเลิกความในมาตรา 15 และมาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และให้ใช้ความใหม่แทนก็ตาม แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกิน 20 กรัม ขึ้นไปกฎหมายที่แก้ไขใหม่ตามมาตรา 66 วรรคสาม ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

การที่จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาของศาล เป็นเพราะจำนนต่อพยานหลักฐานที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ขณะส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้และมาเบิกความยืนยันความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วยตนเอง จึงไม่มีเหตุบรรเทาโทษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2545 เหตุเกิดเวลากลางวันมีผู้รู้เห็นเหตุการณ์หลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยานโจทก์ซึ่งอยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์ต่างเบิกความยืนยันว่าเห็นและจำได้แม่นยำว่าจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายหลังเกิดเหตุแล้วประมาณ 5 วัน เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจสืบสวนได้เค้ามูลว่าจำเลยเป็นคนร้ายและนำภาพถ่ายของจำเลยไปให้พยานทั้งสองดูต่างยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย พยานโจทก์ดังกล่าวมีโอกาสเห็นจำเลยอย่างใกล้ชิดและนานพอที่จะจำจำเลยได้ไม่ผิดตัว พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแน่นหนามั่นคงมีน้ำหนักพอที่จะรับฟังลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพของจำเลย คำให้การรับสารภาพของจำเลยจึงไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีไม่มีเหตุบรรเทาโทษที่ศาลจะลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78

 

๒. ส่วนเรื่องการรอการลงโทษเหตุผลในการขอให้ศาลลดโทษ บรรเทาโทษ หรือรอการลงโทษ มีเหลักเกณฑ์คือ ตาม ป.อ.มาตรา 56 
           มาตรา 56 ผู้ใดกระทำความผิดซึ่งมีโทษจำคุก และในคดีนั้นศาล จะลงโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้นั้นได้รับโทษจำคุกมา ก่อนหรือปรากฏว่าได้รับโทษจำคุกมาก่อน แต่เป็นโทษสำหรับความ ผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ เมื่อศาลได้คำนึง ถึงอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัยอาชีพและสิ่งแวดล้อมของผู้นั้น หรือสภาพความผิด หรือเหตุอื่นอันควรปราณีแล้ว เห็นเป็นการสมควรศาลจะพิพากษาว่า ผู้นั้นมีความผิดแต่รอการกำหนดโทษไว้ หรือกำหนดโทษแต่รอการ ลงโทษไว้ แล้วปล่อยตัวไปเพื่อให้โอกาสผู้นั้นกลับตัวภายในระยะเวลา ที่ศาลจะได้กำหนด แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดย จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้นั้นด้วยหรือไม่ก็ได้
เงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของผู้กระทำความผิดนั้น ศาลอาจกำหนดข้อเดียวหรือหลายข้อ ดังต่อไปนี้
(1) ให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าพนักงานที่ศาลระบุไว้เป็นครั้งคราว เพื่อเจ้าพนักงานจะได้สอบถาม แนะนำ ช่วยเหลือหรือตักเตือนตาม ที่เห็นสมควรในเรื่องความประพฤติและการประกอบอาชีพหรือจัดให้ กระทำกิจกรรมบริการสังคม หรือสาธารณประโยชน์ตามที่ เจ้า พนักงานและผู้กระทำความผิดเห็นสมควร
(2) ให้ฝึกหัดหรือทำงานอาชีพอันเป็นกิจจะลักษณะ
(3) ให้ละเว้นการคบหาสมาคมหรือการประพฤติใดอันอาจนำไป สู่การกระทำความผิดในทำนองเดียวกันอีก
(4) ให้ไปรับการบำบัดรักษาการติดยาเสพติดให้โทษ ความ บกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจ หรือความเจ็บป่วยอย่างอื่น ณ สถานที่และตามระยะเวลาที่ศาลกำหนด
(5) เงื่อนไขอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดเพื่อแก้ไข ฟื้นฟูหรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก
เงื่อนไขตามที่ศาลได้กำหนดตามความในวรรคก่อนนั้น ถ้าภายหลังความปรากฏแก่ศาลตามคำขอของผู้กระทำความผิด ผู้แทนโดย ชอบธรรมของผู้นั้น ผู้อนุบาลของผู้นั้น พนักงานอัยการหรือเจ้า พนักงานว่า พฤติการณ์ที่เกี่ยวแก่การควบคุมความประพฤติของผู้ กระทำความผิดได้เปลี่ยนแปลงไป เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลอาจ แก้ไขเพิ่มเติมหรือเพิกถอนข้อหนึ่งข้อใดเสียก็ได้ หรือจะกำหนด เงื่อนไขข้อใด ตามที่กล่าวในวรรคก่อนที่ศาลยังมิได้กำหนดไว้ เพิ่มเติมขึ้นอีกก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3127/2550 จำเลยเข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าเมื่อผู้ใดมีลำไยสดอยู่ในความครอบครองไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือของญาติพี่น้อง แม้จะไม่มีพื้นที่ปลูกลำไยเป็นของตนเองก็สามารถเข้าร่วมโครงการรับซื้อลำไยสดจากเกษตรกรตามนโยบายของรัฐได้ จำเลยกระทำความผิดไปเพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งเมื่อถูกดำเนินคดีก็ให้การรับสารภาพมาโดยตลอด อันแสดงว่าจำเลยรู้สำนักในความผิดแห่งตน และไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับจำเลยเคยทำคุณงามความดี ทั้งเมื่อคำนึงถึงโทษจำคุกที่ได้รับเพียง 2 เดือน การให้จำเลยรับโทษจำคุกไปเสียเลย ย่อมไม่เป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมส่วนรวม สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลย

ส่วนตัวอย่างกรณีที่ถือได้ว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ตามมาตรา 78
1. ตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส
การไม่รู้หนังสือและกฎหมายไทย ไม่มีญาติพี่น้องจะติดต่อขอความช่วยเหลือ ถือว่าตกอยู่ในความทุกข์อย่างแสนสาหัส คำพิพากษาฎีกาที่
 1244/2542
2มีคุณความดีมาก่อน
 เช่น รับสารภาพชั้นสอบสวนและเคยช่วยเหลือราชการ มีเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่ 744/2521
3. รู้สึกความผิด พยายามบรรเทาผลร้าย
 เช่น  พาผู้เสียหายมาคืนพร้อมเงินขอขมา และอยู่กินด้วยกัน ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่1665/2520  ช่วยยกรถจักรยานยนต์ที่ทับขาผู้เสียหาย ถือว่าพยายามบรรเทาผลร้าย มีเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่ 4197/2540  ชดใช้ค่าเสียหายและออกค่ารักษาพยาบาล เป็นเหตุบรรเทาโทษ  คำพิพากษาฎีกาที่ 5296/2540 ชดใช้เงินค่าเสียหายถอนคำร้องทุกข์ ถือว่าพยายามบรรเทาผลร้าย เป็นเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่ 5598/2540 อายุน้อย พฤติการณ์ไม่รุนแรง และและชดใช้ค่าเสียหาย ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่763/2541พฤติการณ์ที่นำผู้ตายส่งโรงพยาบาล บอกชื่อสารพิษที่ผู้ตายกิน ออกค่ารักษาพยาบาล ถือว่าเป็นการบรรเทาผลร้าย  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3337/2543 ศาลวินิจฉัยโดยมิได้แจ้งให้ผู้เสียหายรับเงิน ต้องคืนเงินจำเลย คำพิพากษาฎีกาที่ 138/2547
4. ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน
 เช่น ยินยอมให้จับกุม และมอบของกลางแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เป็นเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่479/2520  ยินยอมให้จับกุมและรับสารภาพทั้งที่ไม่มีประจักษ์พยาน เป็นเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษากาที่  29/2535  เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงาน เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่347/2500, 262/2510, 1103/2510, 425/2512, 1449/2513, 1790/2521, 1465/2522, 2754/2524, 2100/2531, 2104/2533  แม้มีพยานหลักฐานที่สามารถนำสืบพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ โดยไม่ต้องใช้คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน แต่พฤติการณ์ที่จำเลยยอมมอบตัว ทั้งที่มีอาวุธปืนพร้อมกระสุนปืนอยู่ เป็นเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่ 1473/2544
5. ให้ความรู้แก่ศาล เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา
กรณีที่ถือเป็นเหตุบรรเทาโทษ
         เช่น  จำเลยรับสารภาพชั้นจับกุมหรือสอบสวน เป็นการลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงาน มีเหตุบรรเทาโทษ( คำพิพากษาฎีกาที่ 1209/2521, 894/2525, 234/2530, 825/2530, 1963/2531, 108/2540) รับสารภาพก่อนสืบพยาน โดยมิได้จำนนต่อพยานหลักฐาน เป็นเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่1001/2512  จำเลยเบิกความรับบางประเด็น มีเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่  817/10, 31/2511, 2042/2515, 2033/2528, 2457/2530 รับสารภาพหลังจากสืบพยานจำเลยไปแล้วบางส่วน ก็มีเหตุบรรเทาโทษ (คำพิพากษาฎีกาที่3152/2538) จำเลยเบิกความทำนองรับสารภาพความผิด ถือว่ามีเหตุบรรเทาโทษ คำพิพากษาฎีกาที่3801/2543

แนวทางการเขียนคำร้องประกอบคำรับสารภาพคดีอาญาขอให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

     การลงโทษจำเลยในคดีอาญา นอกจากจะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังขั้นอยู่กับดุลพินิจศาล โดยจะพิจารณาเช่น พฤติการณ์แห่งคดี  ความร้ายแรง เหตุเกี่ยวกับตัวผู้กระทำความผิด ฯลฯ โดยนอกจากจะได้จากการสืบเสาะของพนักงานคุมประพฤติ ข้อเท็จจริงในฟ้องในสำนวนคดี และ ทนายจำเลยมักยื่นคำร้องแถลงต่อศาลถึงเหตุบรรเทาโทษ  ก็เป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทราบถึงเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษต่าง ๆที่จะสามารถนำมาประกอบดุลพินิจในการลงโทษจำเลยสถานเบาได้ ซึ่งปกติทนายความอาจทำเป็นคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ยื่นต่อศาลก่อนมีคำพิพากษา

    การเขียนคำร้องประกอบคำรับสารภาพคดีอาญาเป็นไป ตามหลักใน ป.อาญามาตรา ๕๖ และแนวคำพิพากษาศาลฎีกาหรือพฤติการณ์พิเศษอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลย

ทนายความ/ กอบเกียรติ  นบ.นบท. ปรึกษาว่าความคดีอาญา เขียนคำร้องประกอบคำรับสารภาพ อุทธรณ์ฎีกา โทร 0864031447 ไลน์ kobkiatlaw

 

Visitors: 146,449