เด็กหรือผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปีมาหาที่ห้องเราเอง จะผิดฐานพรากเด็กหรือผู้เยาว์หรือไม่
มีคำพิพากษาศาลฎีกาตัดสินไว้ดังนี้
จำเลยให้การรับสารภาพข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก จำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม (เดิม) อีกฐานหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานปราศจากเหตุอันสมควรพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 4 กระทง เป็นจำคุก 20 ปี ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาของตน จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 4 กระทง จำเลยให้การรับสารภาพในความผิดฐานนี้หนึ่งกระทง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้เฉพาะกระทงนี้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 14 ปี รวมโทษทุกกระทงความผิดแล้ว เป็นจำคุก 34 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ขณะเกิดเหตุตามฟ้องเด็กหญิง ฟ. ผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรและอยู่ในปกครองของนาย ค. ผู้เสียหายที่ 1 ผู้เป็นบิดา มีอายุระหว่าง 13 ปีเศษ ถึง 14 ปีเศษ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ผู้เสียหายที่ 2 ไปหาจำเลยที่ห้องพักที่จำเลยเช่าอยู่อาศัย และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ในห้องพักของจำเลย หลังจากนั้นเมื่อผู้เสียหายที่ 2 กลับลงมาจากห้องพักของจำเลยก็ได้พบกับนาย ซ. ซึ่งเป็นน้องชายของผู้เสียหายที่ 1 และเป็นอาของผู้เสียหายที่ 2 ที่ทำงานอยู่ที่ตึกดังกล่าว และถูกบังคับซักถามจนผู้เสียหายที่ 2 ยอมรับว่า มาหาจำเลยและร่วมประเวณีกับจำเลยที่ห้องพักของจำเลย นาย ซ. จึงพาผู้เสียหายที่ 2 ไปแจ้งความ และนัดให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปแจ้งความด้วย ในครั้งแรกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า จำเลยกระทำความผิดในวันที่ 7 พฤษภาคม 2549 เพียงครั้งเดียว หลังจากมีการสอบสวนผู้เสียหายที่ 2 แล้ว จึงมีการแจ้งข้อหาจำเลยเพิ่มเติมว่า จำเลยกระทำความผิดก่อนหน้านั้นอีก 5 ครั้ง คือ เมื่อต้นและกลางเดือนพฤษภาคม 2558 เมื่อกลางเดือนและสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 และเมื่อกลางเดือนมกราคม 2559 สำหรับกรณีตามฟ้องข้อ 1.5 ถึง 1.8 ที่ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อกลางเดือนและสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประเด็นแรกว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องข้อ.1.1 ถึง 1.4 และ 1.9 ถึง 1.10 ที่ฟ้องว่ากระทำเมื่อต้นเดือนและกลางเดือนพฤษภาคม 2558 และเมื่อกลางเดือนมกราคม 2559 ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์เกี่ยวกับความผิดของจำเลยทั้งสามครั้งดังกล่าว คงมีเพียงคำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ที่อ้างว่าเกิดขึ้นดังกล่าวเท่านั้น โดยไม่มีพยานหลักฐานหรือพฤติการณ์แวดล้อมอื่นใดมาสนับสนุน เพราะผู้เสียหายที่ 2 ไม่เคยแจ้งเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ใดมาก่อน ทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ก็มีข้อที่ขัดต่อเหตุผลควรสงสัยอยู่หลายประการ เช่น ที่ผู้เสียหายที่ 2 ให้การและเบิกความว่า ตั้งแต่ครั้งแรกที่ผู้เสียหายที่ 2 ยอมไปหาจำเลยที่ห้องพักรวมทั้งครั้งต่อ ๆ มาทุกครั้ง เพราะถูกจำเลยข่มขู่ว่าจะฆ่า ซึ่งไม่มีเหตุผลที่จำเลยต้องทำเช่นว่านั้น เนื่องจากคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งกล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนหน้านั้น ได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 2 รู้จักจำเลยทางเฟซบุ๊ก แล้วได้ติดต่อพูดคุยทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ตลอดมาประมาณ 1 เดือน โดยไม่ปรากฏว่า มีเหตุผิดปกติใดที่การติดต่อจะต้องมีการข่มขู่จะฆ่าด้วย นอกจากนี้หากมีการข่มขู่จริง ในครั้งแรกผู้เสียหายที่ 2 ก็ไม่น่าจะกล้าไปพบกับจำเลยซึ่งไม่เคยพบหน้ามาก่อนตามลำพัง โดยไม่แจ้งให้ผู้ใดทราบ การที่ผู้เสียหายที่ 2 ยอมไปหาจำเลยที่ห้องในครั้งแรก จึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อเหตุผลอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาประกอบกับคำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่อ้างว่าเกิดขึ้นเมื่อกลางเดือนและสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ตามฟ้องข้อ 1.5 ถึง 1.8 ซึ่งปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่า เป็นช่วงเวลาที่จำเลยอยู่ในต่างประเทศไม่อาจมากระทำความผิดได้ด้วย ก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือเกี่ยวกับคำให้การในชั้นสอบสวนและคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นของจำเลยลดลงไปด้วย พยานหลักฐานของโจทก์เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.4 และ 1.9 ถึง 1.10 จึงยังมีเหตุควรสงสัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดทั้งสามครั้งดังกล่าวหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดทั้งสามครั้งดังกล่าวมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยในประเด็นนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยอีกข้อหนึ่งว่า การกระทำของจำเลยในวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 ที่จำเลยยอมรับสารภาพว่า ได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จริงนั้น จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารด้วยหรือไม่ เห็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ 2 และจำเลยตรงกันว่า ในวันดังกล่าวก่อนที่จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 ผู้เสียหายที่ 2 เป็นฝ่ายไปหาจำเลยที่ห้องพักของจำเลยเอง โดยจำเลยไม่ได้พาไป แม้ที่ผู้เสียหายที่ 2 อ้างว่า ที่ไปที่ห้องพักของจำเลยเป็นเพราะจำเลยติดต่อผ่านเฟซบุ๊กข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่ 2 ไปหา จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม การตัดสินใจจะไปหรือไม่ก็เป็นการตัดสินใจของผู้เสียหายที่ 2 เอง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการพรากผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากการดูแลของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นบิดา จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารตามฟ้องข้อ 1.11 ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวด้วยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ตามคำฟ้องข้อ 1.12 เพียงกระทงเดียว จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
สรุป ศาลวินิจฉัยว่า การตัดสินใจจะไปหรือไม่ก็เป็นของผู้เสียหายเอง จำเลยไม่ได้กระทำการอันใดอันเป็นการพรากผู้เสียหาย ไปเสียจากการดูแลของบิดา จำเลยจึงไม่ได้กระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร