สามีหรือภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกฝ่ายที่เสียชีวิตหรือไม่

สามีหรือภริยาที่อยู่กินด้วยกันไม่ได้จดทะเบียนสมรส หากมีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันตามกฎหมายถือว่าเป็นเจ้าของรวมของสามีภริยานั้น  สามีหรือภริยานั้นจึงถือว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์ดังกล่าว หากฝ่ายใดเสียชีวิตลงอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของอีกฝ่ายได้ แต่ถ้าระหว่างอยู่กินกัน ไม่มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ก็ไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2510/2545  ผู้ร้องมิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ผู้ตายได้ที่ดินมาหลังจากอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับผู้ร้องและไม่ปรากฏว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการให้โดยเสน่หา ที่ดินจึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้ตายและผู้ร้องเป็นเจ้าของร่วมกัน ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกผู้ตายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5603/2534  การที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้คัดค้านเป็นภริยาของเจ้ามรดกโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่อยู่กินด้วยกันและมีทรัพย์สินร่วมด้วยบางรายการ ถือว่าผู้คัดค้านเป็นผู้มีส่วนได้เสียชอบที่จะยื่นคำคัดค้านการที่ผู้ร้องขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกได้ หากพินัยกรรมทำขึ้นขณะผู้ตายล้มป่วยหนักสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ ดังคำคัดค้านผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมได้ จึงจำต้องวินิจฉัยถึงความสมบูรณ์ของพินัยกรรม เมื่อพินัยกรรมสมบูรณ์ตามกฎหมาย การที่ผู้คัดค้านไม่ได้รับมรดกตามพินัยกรรมเลย และตามพินัยกรรมเจ้ามรดกมีเจตนาที่จะตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือเสมือนไร้ความสามารถและไม่เป็นบุคคลล้มละลาย จึงสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย. (วรรคแรกและวรรคสอง วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่)

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12734/2558  แม้ที่ดินและหุ้นจะได้มาในระหว่างโจทก์อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่เมื่อโจทก์กับผู้ตายไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ที่ดินและหุ้นดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส อันจะถือเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) แม้ศาลจะมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายก็ฟังข้อเท็จจริงเพียงว่า เมื่อโจทก์เป็นภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย โจทก์อาจมีสิทธิเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 เป็นการรับฟังข้อเท็จจริงในเรื่องการมีส่วนได้เสียเพียงเพื่อวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและควรตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่เท่านั้น แต่ไม่มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าที่ดินและหุ้นที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ร่วมทำมาหาได้กับผู้ตายหรือไม่ คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันคู่ความให้ต้องรับฟังว่าที่ดินและหุ้นที่โจทก์ฟ้องขอแบ่งในคดีนี้เป็นทรัพย์สินที่โจทก์ทำมาหาได้ร่วมกับผู้ตายและโจทก์มีกรรมสิทธิ์ร่วมกึ่งหนึ่ง

แต่หากไม่มีทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันเลยก็ไม่มีสิทธิ์ร้องจีดการมรดก เพราะไม่ถือว่ามีส่วนได้เสีย

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3707/2537 ผู้ร้องทั้งสองเป็นบิดามารดาของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 1เป็นบุตรของผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ตายกับผู้คัดค้านที่ 2อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสและได้ร้างกันในเวลาต่อมาโดยตาย กับผู้คัดค้านที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินร่วมกันจากนั้นผู้ตายถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับเงินรางวัลและผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องทั้งสอง, ส.,ล., จ. และตั้งให้ผู้ร้องทั้งสองหรือคนใดคนหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ดังนี้ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์สินร่วมกันกับผู้ตาย ไม่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย จึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นั้น แม้จะเป็นบุตรที่ผู้ตายได้รับรองแล้วมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในฐานะทายาทโดยธรรม แต่เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ถูกผู้ตายตัดมิให้รับมรดกโดยพินัยกรรมประการหนึ่ง กับเมื่อผู้ตายได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกเสียทั้งหมดแล้วถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้ได้รับมรดกอีกประการหนึ่ง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะมาร้องขอให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้เช่นกัน

กอบเกียรติ เอี่ยมสงวน นบ.นบท. ทนายความ 0864031447

Visitors: 144,306