ทนายความคดีฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินเพิกถอนนิติกรรม เรียกทรัพย์คืน
มีด้วยกันหลายกรณีเช่น เพิกถอนการฉ้อฉล เพิกถอนในฐานะผู้มีสิทธิอันจะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน เพิกถอนการโอสสินสมรส เป็นต้น
การฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
ป.พ.พ. มาตรา 237 บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบแต่ความข้อนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ ถ้าปรากฏว่าในขณะที่ทำนิติกรรมนั้น บุคคลซึ่งเป็นผู้ได้ลาภงอกแต่การนั้นมิได้เท่าถึงข้อความจริงอันเป็นทางให้เจ้าหนี้ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย....”
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ผู้มีสิทธิขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้ ต้องเป็นเจ้าหนี้ ให้พิจารณาศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5207/2545 อำนาจฟ้องเพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ ซึ่งหมายรวมถึงเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาด้วย ไม่ว่าจะมีการบังคับคดีแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์อ้างว่าตนเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนและจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษาทำนิติกรรมยกทรัพย์พิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เสียเปรียบอันเป็นการฉ้อฉลโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้
การที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากันรีบไปจดทะเบียนหย่าและทำสัญญาแบ่งทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์พิพาทที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมนั้น ถือเป็นทางที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบ โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญาแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 237
คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553 การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลงไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้ ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีกนอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้
นิติกรรมที่ลูกหนี้กระทำตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 มีวัตถุเป็นสิทธิในทรัพย์สิน มีตัวอย่างเช่น การจำหน่ายทรัพย์สิน การปลดหนี้ การกู้ยืมเงิน การจำนอง เป็นต้น
นิติกรรมที่ลูกหนี้ทำลงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้เสียเปรียบหมายความว่า ทรัพย์สินที่เหลืออยู่ของลูกหนี้ไม่พอจะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ให้พิจารณาศึกษาจากคำพิพากษาฎีกาต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2551 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟังได้
ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ
คำพิพากษาฎีกาที่ 5572/2552 แม้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะเป็นเพียงบุคคลสิทธิ แต่การที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 5 เพื่อตีใช้หนี้ค่าวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 5 ไปโดยจำเลยที่ 5 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และรับชำระราคาบางส่วนจากโจทก์แล้วนั้น เป็นการทำนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริต เท่านั้น
คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2551 จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ของโจทก์ จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยเสน่หา ดังนั้น จึงไม่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ทราบหรือไม่ว่าการทำนิติกรรมพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบที่จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างว่า ได้ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ทำนองว่าเป็นนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ก็เป็นการนำสืบที่ขัดกับเอกสารซึ่งระบุชัดเจนว่าเป็นการให้โดยเสน่หาไม่อาจรับฟังได้
ขณะที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนทรัพย์สินตามฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก เมื่อจำเลยที่ 1 มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องแต่เพียงอย่างเดียวและเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาสองแสนบาทเศษ และยังไม่ชำระให้โจทก์แต่กลับโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตร จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีทางบังคับชำระหนี้เอาจากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้เป็นทางที่ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 มีทรัพย์สินเพียงที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเท่านั้น ไม่มีทรัพย์สินอื่นอีก และโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ จึงเป็นการทำนิติกรรมการโอนทั้ง ๆ รู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ
การเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 "ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผูอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้"
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1619/2494 ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินกันโดยผู้ขายได้รับชำระราคาที่ดินแล้ว แต่ยังทำโอนไม่ได้เพราะพนักงานที่ดินส่งโฉนดไปยังกรมที่ดินเสีย ผู้ขายจึงมอบที่ดินที่ขายให้ผู้ซื้อครอบครองไปพลางก่อนจนกว่ากรมที่ดินจะส่งโฉนดคืนมาจึงจะทำโอนกัน ผู้ซื้อจึงได้เข้าครอบครองที่ดินนั้นตลอดมา 4 ปีเศษ ดังนี้ ถือได้ว่าผู้ซื้ออยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนเกี่ยวกับที่ดินนั้นได้ก่อนแล้วตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา1300
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1254/2500 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาทให้โจทก์แล้ว แต่ยังไม่ได้ไปทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพราะการผัดผ่อนของจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 สมคบกันยินยอมใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4,5,6,7 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่พิพาทแม้การยอมให้จำเลยที่ 2,4,5,6,7 ลงชื่อในโฉนดที่พิพาทนั้น เพราะจำเลยที่ 1 ได้ยกที่พิพาทให้ก็ดี แต่การที่จำเลยได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่พิพาทเป็นทางเสียเปรียบแก่โจทก์ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้ก่อนแล้ว โจทก์อาจเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1300
การฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทรัพย์มรดก ตามมาตรา1300
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13689/2556 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายฟ้องขอให้เพิกถอนที่ดินพิพาทตาม หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ซึ่งกระทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ซึ่งที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์สินของผู้ตายและตกเป็นของโจทก์ทั้งสองเฉพาะส่วน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง การฟ้องคดีของโจทก์ทั้งสองเป็นการใช้สิทธิในฐานะบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้ จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ไม่ใช่การฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง และไม่ใช่การฟ้องคดีละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง คดีจึงไม่ขาดอายุความตามมาตราดังกล่าว
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตายและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายโอนที่ดินพิพาทซึ่ง เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเอง แล้วโอนต่อไปให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรโดยไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาทโดยธรรมคนอื่นและโจทก์ทั้งสอง ย่อมเป็นการโอนไปหรือการจัดการมรดกโดยไม่ชอบ ทำให้โจทก์ทั้งสองผู้อยู่ในฐานะอันจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้อยู่ก่อน แล้วเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300
จำเลยที่ 3 รับซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยไม่มีค่าตอบแทน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองเพราะกรณีไม่ต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แม้จำเลยที่ 3 จะรับโอนมาโดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต จำเลยที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามหลักที่ว่าผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน การที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทส่วนของโจทก์ทั้งสองให้แก่จำเลยที่ 3 จึงไม่มีผลทางกฎหมายที่จะใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินพิพาทได้
การฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กรณีคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่ สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5689/2552 คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับ อ. มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการเรียกให้ได้ที่ดินกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตามก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินนั้น เมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนหากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
เมื่อ อ. ถึงแก่กรรม การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และ อ. ย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการณ์ตายของ อ. ทรัพย์มรดกส่วนของ อ. ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันที ด้วยผลของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินในส่วนที่เป็นสินสมรสของ อ. ย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของ อ. เท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจาก อ. ถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี อ. สิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 และ 1480 ทั้ง อ. ไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินกึ่งหนึ่งของ อ. ที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่แบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินครึ่งหนึ่งให้แก่ อ. โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของ อ. ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น
โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกดังกล่าวเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วยแม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ ย่อมถือว่าการยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาท และให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวให้เป็นชื่อนางอรทัยหรือของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอรทัยเพื่อแบ่งปันให้ทายาท หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินส่วนที่เป็นสินสมรสของนางอรทัยคืนได้ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 186,750 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่กรรม นายพรเทพ ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต และโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 จากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 กึ่งหนึ่ง ในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนางอรทัย ในโฉนดเลขที่ 9651 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ตามหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับลงวันที่ 19 มีนาคม 2545 กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อของนางอรทัยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉยให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถจดทะเบียนโฉนดที่ดินในส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของนางอรทัย ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 186,750 บาท แก่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางอรทัย ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ค่าฤชาธรรมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับเป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 บิดาโจทก์กับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางอรทัย มารดาโจทก์ซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว จึงเป็นการฟ้องเรียกให้ได้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ แม้ที่ดินพิพาทจะกล่าวอ้างว่าเป็นสินสมรสก็ตาม ก็เป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินพิพาทในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของนางอรทัยเท่านั้น คดีของโจทก์จึงมิได้พิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในครอบครัว แต่เป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทนั้นเมื่อโจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืน หากไม่สามารถทำได้ให้ชำระเงินจำนวน 186,750 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทที่โจทก์เรียกร้องจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตนั้น เป็นฏีกาโต้แย้งดุลพินิจการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาในข้อนี้ของโจทก์มานั้นไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ในคดีนี้คงฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งศาลฎีกาจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวน โดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กับนางอรทัยเป็นสามีภริยาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2509 อยู่กินมีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ โจทก์และนายพรเทพ ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 9651 เป็นสินสมรสที่จำเลยที่ 1 และนางอรทัยร่วมกันซื้อมาในระหว่างสมรส แต่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวคนเดียว ต่อมาวันที่ 15 มีนาคม 2540 นางอรทัยถึงแก่กรรมโดยไม่มีการแบ่งทรัพย์มรดกรวมทั้งที่ดินพิพาทปี 2540 หลังจากนางอรทัยถึงแก่กรรมแล้วจำเลยที่ 1 กับที่ 2 มาอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส วันที่ 19 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า เมื่อนางอรทัยถึงแก่กรรมการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 และนางอรทัยย่อมสิ้นสุดลงด้วยเหตุการตายของนางอรทัย ทรัพย์มรดกส่วนของนางอรทัยย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีด้วยผลของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 ประกอบมาตรา 1599 และ 1629 ที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นสินสมรสของนางอรทัยย่อมกลายเป็นมรดก การที่ที่ดินพิพาทเคยเป็นสินสมรสจึงเป็นเพียงข้อที่นำไปสู่การวินิจฉัยถึงการแบ่งส่วนของที่ดินพิพาทในฐานะที่เป็นสินสมรสเพื่อจัดการทรัพย์มรดกของนางอรทัยเท่านั้น นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากนางอรทัยถึงแก่กรรมแล้วประมาณ 5 ปี นางอรทัยสิ้นสภาพบุคคลเมื่อตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 15 วรรคหนึ่ง กรณีจึงมิใช่เรื่องการจัดการสินสมรสที่สามีภริยาจะต้องจัดการร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง มิฉะนั้นคู่สมรสที่มิได้ให้ความยินยอมมีสิทธิฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 และ 1480 ทั้งนางอรทัยไม่อาจใช้สิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ เนื่องจากสิ้นสภาพบุคคลด้วยเหตุการตาย แต่กรณีเป็นเรื่องว่าด้วยวิธีการจัดการและการแบ่งทรัพย์ถึงสิทธิในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งของนางอรทัยที่เป็นมรดก โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่2 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมเพื่อแบ่งสินสมรสในส่วนที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งให้แก่นางอรทัย คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ โจทก์คงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นมรดกของนางอรทัยให้แก่จำเลยที่ 2 เท่านั้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ผู้เป็นทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกดังกล่าวเสียภายในกำหนด 1 ปี จากจำเลยที่ 1 ผู้ครอบครองแต่เพียงผู้เดียวในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ทรัพย์ในส่วนมรดกนั้นย่อมตกเป็นของจำเลยที่ 1 ทายาทผู้ครอบครอง เมื่อจำเลยที่ 1 ขายทรัพย์ซึ่งรวมส่วนมรดกดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 ย่อมใช้สิทธิของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นทายาทยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้เป็นทายาทอื่นได้ด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความขึ้นต่อสู้ย่อมถือว่าการยกอายุความเป็นข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 2 เป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) ดังนี้ ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 2,000 บาท แทนจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้แก้ฎีกาจึงไม่กำหนดค่าทนายความให้ ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากนี้ให้เป็นพับ
( สุรภพ ปัทมะสุคนธ์ - นพวรรณ อินทรัมพรรย์ - สิริรัตน์ จันทรา )