สัญญากู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ เมื่อเจ้าหนี้ทวงเงินกู้คืนลูกหนี้จะต้องคืนเงินเมื่อใด
มีข้อพิจารณาดังนี้
หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐๓ ถ้าเวลาอันจะพึงชำระหนี้นั้นมิได้กำหนดลงไว้
หรือจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ไซร้
ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน
และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน
ถ้าได้กำหนดเวลาไว้
แต่หากกรณีเป็นที่สงสัย
ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนถึงเวลานั้นหาได้ไม่
แต่ฝ่ายลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่
917/2539
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 203, 652
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 193
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ว่าคดีที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้ดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่
เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
จำเลยจึงไม่อาจอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้
การเรียกให้ชำระหนี้เงินยืมซึ่งมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้
ต้องปรับด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 203
วรรคแรก มิใช่เป็นการเรียกให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไปตามมาตรา 652
เมื่อสัญญากู้ยืมมิได้กำหนดวันชำระคืนโจทก์ผู้ให้กู้ย่อมจะเรียกให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้โดยพลันได้
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์หลายครั้ง
ต่อมาวันที่5 มีนาคม 2529 จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินไว้กับโจทก์เป็นเงิน119,000
บาท โดยมิได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้เงินต้นไว้แต่ตกลงด้วยวาจาว่าจะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ
7.5 ต่อปีจนกว่าชำระเงินให้โจทก์เสร็จสิ้น
นับตั้งแต่ทำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแล้วจำเลยไม่เคยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
โจทก์ทวงถามหลายครั้ง จำเลยเพิกเฉย โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 44,625
บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้น 119,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 44,625 บาท
และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในเงินต้น 119,000
บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า
จำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้เงินตามเอกสารท้ายฟ้องสัญญากู้เงินไม่มีกำหนดเวลาชำระเงินต้นและดอกเบี้ย
โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องคดีและไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินจำนวนตามฟ้องจากโจทก์
เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามโดยชอบแล้วจำเลยไม่ชำระจึงต้องรับผิดในเงินต้นดังกล่าว
ส่วนดอกเบี้ยนั้นตามสัญญากู้เงินไม่ได้กำหนดกันไว้
แม้โจทก์จะอ้างว่าตกลงด้วยวาจาก็ตาม
โจทก์จะนำสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงเอกสารไม่ได้แต่เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระ
โจทก์ย่อมเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยระหว่างผิดนัดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 224 และพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน119,000
บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
นับแต่วันที่ 28 มกราคม 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2537 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ให้จำเลยใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 2,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
"ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านว่า
จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินตามเอกสารหมาย จ.2ให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้กู้ไว้เป็นหลักฐาน
ต่อมาโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินดังกล่าวตามเอกสารหมาย
จ.3 จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้วแต่ไม่ชำระหนี้แก่โจทก์
ปัญหาข้อแรกที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3ไม่รับวินิจฉัยในข้อที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่มีคำสั่งว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากและให้ดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่เป็นการไม่ชอบเพราะจำเลยไม่มีโอกาสเพียงพอที่จะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าวได้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษานั้น
เห็นว่า
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นคดีไม่มีข้อยุ่งยากให้ดำเนินคดีอย่างคดีมโนสาเร่เมื่อวันที่
1 มีนาคม 2537 มีการส่งหมายเรียกอย่างคดีมโนสาเร่หรือคดีไม่มีข้อยุ่งยากแก่จำเลยโดยการปิดหมายวันที่
20 มีนาคม2537 กำหนดนัดให้จำเลยไปศาลและให้การแก้ข้อหาแห่งคดีในวันที่
18 เมษายน 2537 เวลา 13 นาฬิกา จำเลยยื่นคำให้การวันที่ 1 เมษายน 2537
เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่18 เมษายน 2537
จำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดพิจารณา
ให้พิจารณาชี้ขาดคดีโจทก์ไปฝ่ายเดียวและได้พิพากษาคดีในวันเดียวกันนั้น แสดงว่า
จำเลยได้ทราบคำสั่งดังกล่าวและมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งก่อนถึงวันที่ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาเป็นเวลามากพอสมควร
หาใช่ไม่มีโอกาสจะโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังที่จำเลยฎีกาไม่คำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
เมื่อจำเลยมิได้โต้แย้งไว้ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษา
จำเลยจึงไม่อาจอุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับวินิจฉัยให้นั้นชอบแล้ว
ปัญหาข้อต่อไปที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ของโจทก์ควรจะใช้คำบอกกล่าวแก่ผู้ยืมให้คืนเงินภายในเวลาอันควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 652 หาใช่มาตรา 203เมื่อโจทก์ไม่บอกกล่าวแก่จำเลยผู้ยืมในเวลาอันควรจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีได้นั้น
เห็นว่าคดีเป็นเรื่องการเรียกให้ชำระหนี้เงินยืมซึ่งมิได้กำหนดเวลาอันจะพึงชำระหนี้ไว้
จึงต้องปรับใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203 วรรคแรก
หาใช่เป็นกรณีเรียกให้คืนทรัพย์สินซึ่งยืมไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 652
ไม่
เมื่อสัญญากู้ยืมมิได้กำหนดวันชำระคืนผู้ให้กู้ย่อมจะเรียกให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้โดยพลันได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค
3 วินิจฉัยมานั้น ชอบแล้ว"
พิพากษาแก้เป็นว่า
ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี
นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2103/2535า
สัญญากู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดเวลาชำระต้นเงินคืนไว้
โจทก์ผู้ให้กู้ย่อมจะเรียกให้จำเลยผู้กู้ชำระหนี้ได้โดยพลัน
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 203
วรรคแรก
และมีอำนาจฟ้องให้จำเลยชำระหนี้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 652 ก่อนก็ได้ จำเลยเพียงแต่ยกเอาข้อความที่จำเลยอุทธรณ์ขึ้นมากล่าวในคำฟ้องฎีกาว่าจำเลยอุทธรณ์ว่าอย่างไร
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าอย่างไรแต่จำเลยมิได้ยกข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าไม่ชอบหรือผิดพลาดข้อไหนอย่างไร
เป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ขัดต่อ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สรุปก็คือ
หากไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้เจ้าหนี้สามารถเรียกเงินคืนได้ทันที
ถือว่าหนี้ถึงกำหนดชำระทันที ไม่จำต้องทวงถามหรือบอกกล่าวล่วงหน้าก่อน