การฟ้องร้องต่อสู้คดีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ มีหลักเกณฑ์สำคัญอย่างไร

ความผิดฐานเบิกความเท็จและฟ้องเท็จ มีองค์ประกอบในการฟ้องร้องและต่อสู้คดีอย่างไรบบ้าง


มาตรา 177 ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าความผิดดังกล่าวในวรรคแรก ได้กระทำในการพิจารณาคดีอาญา ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกิน หนึ่งหมื่นสี่พันบาท

องค์ประกอบ

1.เบิกความอันเป็นเท็จ

2.ในการพิจารณาคดีต่อศาล

3. ความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี หมายถึง ข้อเท็จจริงที่มีผลทำให้ศาลพิพากษาให้แพ้หรือชนะคดีได้

4.เจตนา

ตัวอย่างคดี ศาลฎีกาได้วางหลักกฎหมายการเบิกความเท็จไว้ดังต่อไปนี้

คำพิพากษาฎีกาที่ 130/2508 
ป.อ. มาตรา 177, 181 (1)
กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 155 
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177 มิได้วางเกณฑ์องค์ประกอบความผิดไว้ว่า พยานที่เบิกความเท็จนั้นจะต้องได้สาบานหรือปฏิญาณตัวแล้วด้วยจึงจะมีความผิดดังเช่นในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 155ความมุ่งหมายอันเป็นสารสำคัญของมาตรา 177 อยู่ที่จะเอาผิดกับผู้เบิกความในข้อสำคัญแห่งคดีด้วยความเท็จเป็นสำคัญเพราะการเบิกความเท็จต่อศาลย่อมมีส่วนทำให้เสื่อมเสียความยุติธรรมได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 424/2512 
ป.อ. มาตรา 177 
จำเลยเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด ฟ้องขอให้โจทก์ชำระหนี้ค่าวัสดุก่อสร้างพร้อมทั้งดอกเบี้ย โจทก์ให้การต่อสู้ว่า ได้จ่ายเช็คเงินสดชำระหนี้ค่าสิ่งของให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้นแล้วแต่เช็คของโจทก์หลายฉบับรับเงินไม่ได้ จำเลยจึงมอบให้นายวินัยนำเช็คไปแจ้งความร้อยตำรวจโทชัยชาญพนักงานสอบสวนได้ให้โจทก์ชำระหนี้จำเลยโดยจำเลยและผู้แทนจำเลยมอบให้ร้อยตำรวจโทชัยชาญเป็นคนกลางรับชำระหนี้แทน โจทก์ได้ชำระหนี้ให้จำเลยเป็นเงินสดและนางสาวพยุงบุตรสาวโจทก์ได้จ่ายเช็คให้อีก 6 ฉบับจำเลยหรือผู้แทนจำเลยได้รับเงินไปตามเช็คที่ถึงกำหนดแล้วบางฉบับ จำเลยได้เข้าเบิกความเป็นพยานต่อศาลว่าโจทก์ไม่เคยออกเช็คชำระหนี้ให้จำเลย จำเลยไม่เคยรู้จักนายวินัย ไม่เคยมอบให้นายวินัยไปแจ้งความเรื่องโจทก์ออกเช็ค โจทก์ไม่เคยเอาเช็คของนางสาวพยุงชำระหนี้จำเลยไม่เคยรับเช็คจากร้อยตำรวจโทชัยชาญ ไม่รู้จักร้อยตำรวจโทชัยชาญ และไม่เคยพิพาทเรื่องเช็คกับโจทก์ ซึ่งข้อความที่จำเลยเบิกความเป็นพยานนี้เป็นความเท็จ หากศาลหลงเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยก็อาจทำให้ศาลไม่เชื่อข้อต่อสู้ของโจทก์ว่าได้ชำระหนี้บางส่วนให้จำเลยแล้วย่อมจะตัดสินให้โจทก์แพ้คดี ฉะนั้นคำเบิกความเท็จของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยต้องมีความผิดฐานเบิกความเท็จ
การฟ้องคดีฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177นั้น กฎหมายมิได้บัญญัติว่าพยานจะต้องสาบานตัวก่อนเบิกความ จึงจะเป็นความผิด

คำพิพากษาฎีกาที่ 561/2508 
ป.อ. มาตรา 177, 181, 264, 265, 267 
คำว่า ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 181(1) นี้หมายถึงว่าอัตราโทษขั้นต่ำของความผิดนั้นจะต้องมีระวางโทษจำคุก 3 ปีเป็นอย่างน้อยที่สุด
การเบิกความเท็จในการพิจารณาคดีอาญา ไม่ใช่เรื่องแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความแต่เป็นเรื่องเบิกความซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจจดข้อความตอนใดหรือไม่จดก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความการจดจึงเป็นเรื่องของศาล ไม่ใช่เรื่องของพยานที่จะแจ้งให้ศาลจดข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา267
จำเลยไม่ใช่นายช่วง แต่มาอ้างต่อศาลว่าเป็นนายช่วงและข้อเท็จจริงที่จำเลยเบิกความว่าได้รู้เห็นเหตุการณ์จำเลยก็มิได้รู้เห็นจริง กับจำเลยได้ลงนามปลอมว่า นายช่วง ในคำเบิกความที่ศาลจดไว้อีกด้วยความผิดฐานเบิกความเท็จสำเร็จได้โดยไม่ต้องอาศัยการลงนามปลอมการลงนามปลอมของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 อีกด้วยแต่จำเลยหามีความผิดฐานปลอมเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265 อีกมาตราหนึ่งไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 5558/2534 
ป.อ. มาตรา 175, 177 
คดีก่อนโจทก์เข้าร่วมกับพนักงานอัยการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 188 จำเลยที่ 2 เบิกความเท็จต่อศาลศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้หยิบยกเอาคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัย หากแต่ได้วินิจฉัยกับพยานหลักฐานอื่นแล้วเชื่อว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดจริง คำเบิกความของจำเลยที่ 2จึงไม่เป็นข้อสำคัญในคดี จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานเบิกความเท็จ ส่วนจำเลยที่ 1 เข้าเบิกความในฐานะพยานซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลยจะยกเอาสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยมาอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดฐานเบิกความเท็จไม่ได้ และคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวที่ว่าจำเลยที่ 1 เพียงแต่หยิบเอาภาพถ่ายใบหย่าไป ไม่ได้หยิบเช็คตามฟ้องนั้นเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ฉีกเช็คของโจทก์อันเป็นข้อสำคัญในคดีอาญาดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1 ถูกฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ฉีกเช็คที่จำเลยที่ 1 สั่งจ่ายชำระหนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเบิกความเท็จ คดีหลัง จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์ในข้อหาลักทรัพย์ ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 นำความเท็จมาฟ้องและเบิกความเท็จว่า โจทก์ลักเอาทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ โดยจำเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าข้อความตามฟ้องและที่เบิกความนั้นเป็นเท็จ แม้ศาลได้พิพากษายกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องและโจทก์ในคดีดังกล่าวยังไม่อยู่ในฐานะเป็นจำเลย จำเลยที่ 1ยังมีความผิดฐานฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ กฎหมายมิได้บัญญัติว่าเป็นความผิดต่อเมื่อศาลได้ประทับฟ้องใช้แล้ว.

คำพิพากษาฎีกาที่ 4900/2537 
ป.อ. มาตรา 177 
การเบิกความในการพิจารณาคดีของศาล ไม่ว่าจะเป็นชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือชั้นพิจารณาก็เป็นการพิจารณาคดีของศาลเช่นเดียวกันส่วนคำว่าข้อสำคัญในคดีก็หมายถึงเนื้อหาหรือสาระของคำเบิกความหาใช่เรื่องขั้นตอนในการเบิกความไม่ ดังนั้นถ้าพยานเบิกความเท็จและข้อความที่เบิกความเป็นสาระสำคัญของคดีที่เบิกความ ไม่ว่าจะเป็นการเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องหรือในชั้นพิจารณาของศาล ก็เป็นการเบิกความเท็จที่เป็นข้อสำคัญในคดีอันเป็นความผิดฐานเบิกความเท็จเช่นเดียวกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 126-127/2523 
ป.อ. มาตรา 177 
ในคดีแพ่งที่จำเลยทั้งสองถูก ส. ฟ้องว่าผิดสัญญาขายที่ดินและเรียกค่าเสียหาย ซึ่งโจทก์ถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมด้วยนั้น ศาลได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยที่ 1 ได้มอบอำนาจให้โจทก์ (ซึ่งเป็นจำเลยร่วม)ขายที่พิพาทหรือไม่ อันเป็นประเด็นสำคัญชี้ขาดการแพ้ชนะคดีนั้น การที่จำเลยทั้งสองเบิกความอันเป็นเท็จว่าไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ไปจำหน่ายหรือขายที่ดินให้คนอื่น จึงเป็นข้อความสำคัญในคดี
เมื่อจำเลยเบิกความเท็จและข้อความนั้นเป็นข้อสำคัญในคดีแม้คดีนั้นจะเสร็จเด็ดขาดลงด้วยการประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความก็ตามการกระทำที่เป็นการเบิกความเท็จของจำเลยเป็นความผิดสำเร็จแล้ว จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177

คำพิพากษาฎีกาที่ 224/2532 
ป.วิ.อ. มาตรา 172
ป.อ. มาตรา 177 
ในคดีก่อน จำเลยถูกฟ้องในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทชนรถยนต์ที่ผู้เสียหาย (โจทก์คดีนี้) ขับสวนทางมา เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส และมีบุคคลอื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายบาดเจ็บ การที่จำเลยเบิกความในคดีก่อนว่า ผู้เสียหายขับรถยนต์ชนรถยนต์ที่จำเลยขับในช่องทางเดินรถของจำเลย มีพวกผู้เสียหายเก็บเศษกระจกและเศษไม้จากช่องทางเดินรถของจำเลยไปไว้ในช่องทางเดินรถของผู้เสียหาย เท่ากับเบิกความว่า เหตุที่รถยนต์ชนกันเป็นความผิดของผู้เสียหาย มิใช่ความผิดของจำเลยซึ่งเป็นประเด็นโดยตรงของคดีก่อนที่ว่าจำเลยขับรถยนต์โดยประมาทหรือไม่ ข้อความที่จำเลยเบิกความจึงเป็นข้อสำคัญในคดี แม้จำเลยจะมีสิทธิในการต่อสู้คดีและจะให้การอย่างไร หรือไม่ยอมให้การในคดีก่อนก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 172 ก็ตาม แต่ในชั้นพิจารณาคดีดังกล่าว ตัวจำเลยได้เข้าเบิกความในคดีในฐานะพยาน ซึ่งเป็นอีกฐานะหนึ่งต่างหากจากการเป็นตัวจำเลย หากคำเบิกความของจำเลยเป็นเท็จจำเลยก็ต้องมีความผิดฐานเบิกความเท็จ จะยกเอาสิทธิในการต่อสู้คดีของจำเลยมาอ้างเพื่อยกเว้นความรับผิดฐานเบิกความเท็จหาได้ไม่

 

ความผิดฐานฟ้องเท็จ  ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 175
  ผู้ใดเอาความอันเป็นเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำความผิดอาญา หรือว่ากระทำความผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาตรา 176 ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา 175 แล้วลุแก่โทษต่อศาล และขอถอนฟ้องหรือแก้ฟ้องก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้หรือศาลจะไม่ลงโทษเลยก็ได้

 

1.เจตนา คือ ต้องรู้ว่าความที่ฟ้องนั้นเป็นเท็จ

2.เอาความเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาล

3.ว่ากระทำผิดอาญา  คือ ต้องเป็นความผิดอาญาเท่านั้น ทางแพ่งไม่ผิดฟ้องเท็จ

3.หรือฟ้องว่ากระทำผิดอาญาแรงกว่าที่เป็นความจริง เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ นำไปฟ้องว่า ชิงทรัพย์หรือล้นทรัพย์  ซึ่งมีอัตราโทษที่สูงกว่าลักทรัพย์ เป็นต้น

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2537
ความผิดฐานฟ้องเท็จย่อมเกิดขึ้นทันทีที่ฟ้องคดี หาใช่ว่าต้องรอให้คดีนั้นถึงที่สุด หรือต้องฟังว่าผู้เสียหายได้รับความเสียหายหรือไม่ก่อนแต่อย่างใด

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 396/2543พิพ

ากษาการที่โจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน500,000 บาทให้แก่จำเลยนั้น เป็นการออกเช็คเพื่อค้ำประกันเงินกู้ที่โจทก์กู้ไปจากจำเลยจำนวน120,000 บาทเมื่อจำเลยนำเช็คพิพาทฉบับดังกล่าวไปฟ้องกล่าวหาว่าโจทก์ออกเช็คให้แก่จำเลยเพื่อชำระหนี้เงินกู้โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯมาตราจึงเป็นการฟ้องคดีอาญาต่อศาลว่าโจทก์กระทำความผิดการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานฟ้องเท็จ

จำเลยเบิกความในการพิจารณาคดีอาญาของศาลชั้นต้นยืนยันตามฟ้องว่าเช็คพิพาทตามที่จำเลยฟ้องเป็นเช็คที่โจทก์ออกเพื่อชำระหนี้เงินกู้ให้จำเลย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ออกเช็คพิพาทให้จำเลยยึดถือไว้เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีอยู่ต่อจำเลย คำเบิกความของจำเลยย่อมเป็นความเท็จและเป็นข้อสาระสำคัญในคดี เพราะถ้าศาลชั้นต้นฟังว่าเช็คพิพาทโจทก์ออกให้จำเลยเพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ ศาลชั้นต้นก็อาจพิพากษาลงโทษจำคุกโจทก์ได้ ดังนั้น จำเลยย่อมมีความผิดฐานเบิกความเท็จ

การที่จำเลยฟ้องเท็จและเบิกความเท็จในคดีอาญา ถึงแม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จะพิพากษายกฟ้อง แต่โจทก์ผู้ถูกฟ้องย่อมได้ความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์เป็นผู้เสียหายตามกฎหมาย

การที่โจทก์ออกเช็คพิพาทและเขียนหนังสือประกอบการออกเช็คให้จำเลยมิใช่เพื่อจำเลยนำมาฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ โจทก์จึงมิได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลย

การที่จำเลยนำความเท็จมาฟ้องโจทก์และเบิกความเท็จนั้น ก็โดยเจตนาให้โจทก์ต้องโทษทางอาญา หากศาลเชื่อว่าเป็นความจริงดังคำฟ้องและคำเบิกความของจำเลยแล้ว โจทก์อาจถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกได้ ถือว่าเป็นการกระทำที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสังคม จึงไม่สมควรรอการลงโทษจำคุก

 

Visitors: 146,734