การเรียกร้องเงินค่าเสียหายในคดีอาญา ตามมาตรา44/1 ต้องทำอย่างไร

ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายได้รับความเสียหาย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกหมิ่นประมาท ถูกล่วงละเมิดทางเพศ หรือคดีเกี่ยวกับทรัพย์กรณีเรียกดอกเบี้ยผิดนัด เป็นต้น นอกจากผู้เสียหายจะมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนทางแพ่งฐานละเมิดแล้ว ยังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งไปในคดีอาญาที่พนักงานอัยการฯ ยื่นฟ้องได้ด้วย ซึ่งเรียกว่าการยื่นคำร้องตามาตรา 44/1 

ข้อกฎหมายกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

     ป.วิอาญา มาตรา 44/1 บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ ถ้าผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพราะเหตุได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนก็ได้

     การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ผู้เสียหายต้องยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้น  ทั้งนี้ คำร้องดังกล่าวต้องแสดงรายละเอียดตามสมควรเกี่ยวกับความเสียหายและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้อง หากศาลเห็นว่าคำร้องนั้นยังขาดสาระสำคัญบางเรื่อง ศาลอาจมีคำสั่งให้ผู้ร้องแก้ไขคำร้องให้ชัดเจนก็ได้

      คำร้องตามวรรคหนึ่งจะมีคำขอประการอื่นที่มิใช่คำขอบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยในคดีอาญามิได้ และต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ และในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้

หลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขอ

1. เป็นคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์
2. ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือได้รับความเสื่อมเสียต่อเสรีภาพในร่างกายชื่อเสียงหรือได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สิน  เนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย
3. ยื่นคำร้องก่อนเริ่มสืบพยาน ในกรณีที่ไม่มีการสืบพยานให้ยื่นคำร้องก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี และถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้อง
4. ผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่ง
5. คำร้องดังกล่าวต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคำฟ้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ 
6. 
ในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา ๔๓ คือในคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ลัก วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฉ้อโกง ยักยอกฯลฯ แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้ แต่สามารถเรียกค่าเสียหาย และดอกเบี้ยตามกฎหมายได้

เอกสารที่ใช้ประกอบในการยื่นคำร้อง เช่น

๑.เอกสารเกี่ยวกับการเสียหายทั้งปวง

๒.เอกสารเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ รายได้

๓.ใบเสร็จค่ารักษาพยาบาล  , ความเห็นของแพทย์

 

วิธีการยื่นคำร้อง

ทำคำร้องตามแบบฟอร์มของศาล

บรรยายเหตุและรายละเอียดแห่งความเสียหายที่มาจากการกระทำผิดอาญา พร้อมทั้งจำนวนเงินคำขอให้ศาลบังคับ 

ต้องยื่นต่อศาลก่อนสืบพยานหรือก่อนพิพากษากรณีไม่มีการสืบพยาน

 

ประโยชน์ของการยื่นคำร้อง ๔๔/๑ เช่น  

๑.หากศาลพิพากษาคดีสามารถกำหนดค่าเสียหายทางแพ่งได้เลย โดยมิได้แยกไปฟ้องเป็นคดีแพ่งใหม่

๒.มีประโยชน์ต่อการเรียกร้องค่าเสียหาย ทั้งในชั้นไกล่เกลี่ย และมีผลต่อการวางเงินชำระค่าเสียหายหรือบรรเทาผลร้ายของจำเลย

 

หากมิได้ยื่นคำร้องภายในเวลากำหนดต้องทำอย่างไร

ต้องฟ้องเป็นคดีแพ่ง(คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องอาญา) เพื่อเรียกค่าเสียหายภายในอายุความ

 

ติดต่อทนายความ โทร 0864031447

Visitors: 146,740