กรรมการออกเช็คบริษัทโดยไม่ประทับตราบริษัทและไม่เขียนแถลงว่ากระทำแทนบริษัทไว้ในเช็ค หากเช็คเด้ง จะฟ้องผู้ใดได้บ้าง
กรรมการออกเช็คบริษัทโดยไม่ประทับตราบริษัทและไม่เขียนแถลงว่ากระทำแทนบริษัทไว้ในเช็ค หากเช็คเด้ง จะฟ้องผู้ใดได้บ้าง มีคำพิพากษาศาลฎีกาวางหลักไว้ดังนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5415/2560
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม. 900, 901
แม้จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การดำเนินการใดๆ ย่อมต้องทำผ่านทางผู้แทนคือ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน และการสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับของจำเลยที่ 2 ถือเป็นการกระทำตามหน้าที่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่ขณะออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับ จำเลยที่ 2 มีอำนาจกระทำแทนจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาททั้งสองฉบับ โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรณีที่สืบเนื่องมาจากหนังสือของธนาคารแห่งประเทศไทย และเป็นไปตามเงื่อนไขระหว่างจำเลยที่ 1 เจ้าของเช็ค กับธนาคารตามเช็ค ซึ่งไม่เป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และตราสารจัดตั้งที่ได้จดทะเบียนไว้ ประกอบกับในเรื่องตั๋วเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คต้องรับผิด ตามเนื้อความในเช็ค และมาตรา 901 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คปฏิเสธความรับผิดตามเนื้อความในเช็คได้ก็ต่อเมื่อกระทำแทนบุคคลอื่นและเขียนแถลงว่ากระทำการแทนบุคคลอื่นเท่านั้น ดังนั้น การที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับเป็นของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่าย โดยไม่ได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เขียนข้อความให้เห็นว่ากระทำแทนจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 กระทำในนามส่วนตัวด้วย และต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดตามเนื้อความในเช็คชำระเงินตามเช็คพิพาททั้งสองฉบับให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
คำตอบคือ สามารถฟ้องบริษัท เป็นจำเลยที่ ๑ และฟ้องกรรมการผู้ลงลายมือชื่อเช็คเป็นจำเลยที่ ๒ ในฐานะส่วนตัวร่วมรับผิดกับบริษัท ได้